Polymer Additive

สารเติมแต่งพลาสติก

เทอร์โมพลาสติกประเภทต่างๆมีสมบัติ ข้อด้อยและข้อดีต่างกัน โดยตัวสารเติมแต่งพลาสติกต่างๆได้ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อให้สามารถปรับปรุง ปลี่ยนแปลงสมบัติด้อยของวัตถุดิบประเภทต่างๆให้ดีขึ้น เหมาะสมกับการใช้งาน สามารถยืดอายุการใช้งาน ลดต้นทุน และเพิ่มมูลค่าให้กับชิ้นงานได้ ทั้งนี้ทางบริษัท บี.บี.พลาสติก กรุ๊ป จำกัด มีบริการจัดหาและปรับแต่งคุณสมบัติพลาสติกด้วยสารเติมแต่งที่หลากหลาย ตามความต้องการของลูกค้า ตัวอย่างที่พบบ่อยดังนี้

1. ฟิลเลอร์

การใส่ฟิลเลอร์ส่วนใหญ่จะส่งผลให้คุณสมบัติของเทอร์โมพลาสติกมีการเปลี่ยนแปลง มีความหนาแน่นเพิ่มขึ้น เช่น ทนแรงกระแทก แรงอัด ทนแรงดัดโค้ง เพิ่มขึ้น มีความแข็งแต่มีการหดตัวลดลง โดยทั่วไป ฟิลเลอร์ แบ่งได้ 2 กลุ่มใหญ่ๆ ตามบทบาทหรือหน้าที่หลักคือ

  • เอ็กซ์เทนเดอร์ ฟิลเลอร์ (extender หรือ inert fillers) การใส่ฟิลเลอร์ในกลุ่มนี้มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อใช้เป็นสารเพิ่มเนื้อ ลดต้นทุนพลาสติก อย่างไรก็ตามการเติม ฟิลเลอร์กลุ่มนี้จะช่วยปรับปรุงสมบัติของพลาสติกได้ด้วย เช่น ปรับปรุงสมบัติความยืดหยุ่น แต่ส่วนใหญ่ไม่ช่วยปรับปรุงสมบัติความทนแรงดึงให้พลาสติก
  • ฟังก์ชันแนลฟิลเลอร์ (functional fillers) หรือแอคทีฟ ฟิลเลอร์ (active fillers) ฟิลเลอร์กลุ่มนี้เติมในพลาสติกโดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อปรับปรุงสมบัติกายภาพ สมบัติเชิงกลของพลาสติก หรือสมบัติอื่นๆ เช่น การนำไฟฟ้า การนำความร้อน เป็นต้น

2. สารกันการเสื่อมสภาพ

พลาสติกเป็นวัสดุที่มีการยึดโมเลกุลภายในเป็นสายโซ่ให้ติดกัน แต่เมื่อได้รับพลังงานกระตุ้น เช่น ความร้อน แสงUV หรือ ปฏิกิริยาออโตออกซิเดชั่น พลาสติกก็พร้อมที่จะเกิดปฏิกิริยาเป็นอนุมูลอิสระ หรือ แตกสลายแยกออกจากกันได้ เพราะฉะนั้นเพื่อลดปัญหานี้และช่วยยืดอายุการใช้งานของพลาสติกให้ยาวนานขึ้น จึงมีการคิดค้นสารเพิ่มเสถียรภาพหรือสตาบิไลเซอร์ (Stabilizers) ที่จะช่วยเพิ่มความเสถียรให้กับวัตถุดิบพลาสติกเมื่อเจอสิ่งกระตุ้นต่างๆ

3. สารหน่วงไฟ

สารหน่วงไฟ พลาสติกมีองค์ประกอบหลักเป็นสารไฮโดรคาร์บอน ดังนั้นจึงเป็นสารเชื้อเพลิงอย่างดี พลาสติกแต่ละชนิดจะมีลักษณะการติดไฟและลามไฟแตกต่างกัน บางชนิดไม่ติดไฟ บางชนิดเมื่อติดไฟแล้วเปลวไฟสามารถดับได้เอง

การใส่สารหน่วงไฟในพลาสติกมีวัตถุประสงค์เพื่อทำให้ชิ้นงานที่กำลังลุกติดไฟไม่เกิดการลามไฟต่อไปจนหมดชิ้นงาน หรือทำให้ไม่เกิดการลุกติดไฟขึ้น หรือทำให้ไฟที่ลุกติดดับได้เอง

4. พลาสติไซเซอร์

สารดัดแปลงสมบัติเชิงกลของพลาสติก โดยมีวัตถุประสงค์หลักคือช่วยเพิ่มความยืดหยุ่น อ่อนตัว โดยเฉพาะ พลาสติกที่มีคุณสมบัติแข็งและเปราะ

5. สารป้องกันการเกิดไฟฟ้าสถิต

การเกิดไฟฟ้าสถิตในพลาสติก มักเกิดจากการสัมผัสกับผิวของวัสดุอื่นเกิดเป็นแรงเสียดทานในกระบวนการผลิต ซึ่งทำให้แต่ละจุดบนพลาสติกมีความหนาแน่นไม่เท่ากัน และมีประจุไฟฟ้าสถิตอย่างไม่สม่ำเสมอ ดังนั้นจึงทำให้เกิดปัญหา เช่น ฟิล์มพลาสติกแยกออกจากกันได้ยาก หรือในกรณีรุนแรงอาจทำให้เกิดการลุกไหม้ได้ 

6. สารหล่อลื่น

สารหล่ออยู่ในกลุ่มของสารเติมแต่งที่มีบทบาทช่วยในการผลิต เนื่องจากสารหล่อลื่นที่ใส่ในพลาสติกจะทำหน้าที่ช่วยลดแรงเสียดทานระหว่างโมเลกุลของพลาสติกหลอม ระหว่างพลาสติกและผิวโลหะในกระบวนการผลิต ทำให้พลาสติกหลอมมีลักษณะการไหลดีขึ้น ช่วยลดอุณหภูมิของกระบวนการลงทำให้ประหยัดพลังงาน และวงจรการผลิตสั้นลง

บริษัท บี.บี.พลาสติก กรุ๊ป จำกัด
ดำเนินงานตามมาตรฐาน
ISO 9001/2015

โดยทุกแผนกมีเครื่องจักรที่ทันสมัย ระบบตรวจเช็คที่น่าเชื่อถือ และเจ้าหน้าที่พร้อมบริการ ให้คำปรึกษา รับผิดชอบ ไม่ทิ้งงาน